เหล็กมีกี่ประเภท

161 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เหล็กมีกี่ประเภท

‘เหล็ก’ หนึ่งในวัสดุที่ทรงพลังและมีความสำคัญต่องานอุตสาหกรรมมากมาย แต่ทราบหรือไม่ ถึงแม้ว่า หน้าตาคล้ายกันจนถูกคนส่วนใหญ่เรียกกันว่า เหล็ก เหมือนกัน แต่ความจริงแล้ว ประเภทของเหล็ก และ คุณสมบัติของเล็ก เหล่านั้นอาจต่างกัน และเหมาะสมกับการใช้งานแตกต่างประเภทกันออกไป วันนี้เราขอชวนคุณมาทำความรู้จักกับ ‘ชนิดของเหล็ก’ กันว่า เหล็กมีกี่ประเภท โดยเฉพาะชนิดของเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมกันบ่อยๆ นั้นเรียกว่าเหล็กอะไรกันบ้าง

ประเภทของเหล็ก

เหล็ก โดยเฉพาะที่ใช้งานอุตสาหกรรม อาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 ประเภทตามการพิจารณาดูคาร์บอนที่อยู่ในเหล็ก คือ เหล็กหล่อ (Cast Iron) และ เหล็กกล้า (Steel) ซึ่ง 2 กลุ่มนี้ก็ยังสามารถแบ่งแยกย่อยและเลือกใช้งานตามคุณสมบัติของเหล็กที่แตกต่างกันไปได้อีก ดังนี้

1.เหล็กหล่อ (Cast Iron)

เหล็กหล่อ เป็นประเภทเหล็ก ที่ผ่านการผสมผสานระหว่างเหล็กและคาร์บอน ปริมาณคาร์บอนมากกว่า 2% (หากใช้ในงานอุตสาหกรรมจะแนะนำที่ 2.5-4%) แม้จะมีความแข็งไม่เท่าเหล็กกล้า มีโอกาสเกิดการเปราะได้ง่ายกว่า แต่ก็ทนทานต่อการกัดกร่อนได้มากกว่าจากฟิล์มคาร์บอน มักนิยมในกลุ่มงานอุตสาหกรรมสายผลิตมากกว่า เนื่องจากราคาต่ำกว่า และจุดหลอมต่ำ ขึ้นรูปง่าย

เหล็กหล่อขาว: มีความแข็ง สามารถต้านทานการสึกหรอได้ดี แต่มีโอกาสเปราะหรือแตกหักได้ง่ายเช่นกัน จึงนิยมใช้ในงาน ล้อรถไฟ จานเจียระไนอัญมณี ฯลฯ

เหล็กหล่อเทา: มีจุดหลอมเหลวและอัตราการหดตัวต่ำ ความแข็งไม่มาก สามารถนำไปดัดแปลงตามความต้องการได้ แต่จะนิยมนำไปใช้กับการเป็นส่วนประกอบของเครื่องจักร เช่น แท่นเครื่องจักร เครื่องมือกล ฯลฯ

เหล็กหล่ออบเหนียว: ความเค้นมากกว่าอีก 2 เหล็กก่อนหน้านี้ แถมยังมีความเหนียว ทนทานต่อแรงกระแทก แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากจะใช้งานเหล็กชนิดนี้ก็จำเป็นต้องใช้พลังงานมาก จึงไม่ค่อยนิยมนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมเท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ ก็จะมีประเภทเหล็กหล่ออื่นๆ ตามคุณสมบัติที่เพิ่มมากขึ้น อย่างการทนต่อความร้อนสูง เช่น เหล็กหล่อซิลิคอนสูง (ทนทั้งความร้อนและการกัดกร่อน) เหล็กหล่อผสมโครเมียม ฯลฯ หรือ ทนการกัดกร่อน เช่น เหล็กหล่อผสมนิเกิลสูง ฯลฯ

2.เหล็กกล้า (Steel)

เหล็กกล้า หรือ เหล็กบริสุทธิ์ เป็นประเภทเหล็กที่แทบจะไม่มีสารใดมาผสม จึงมีคุณสมบัติของเหล็กค่อนข้างต่างจากเหล็กหล่อ ทั้งในเรื่องของความยืดหยุ่นและค่อนข้างเหนียวกว่า ทำให้ได้รับความนิยมในแวดวงอุตสาหกรรมพอสมควร เนื่องจากสามารถนำไปดัดแปลงและใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยในวงการอุตสาหกรรมมักจะเลือกใช้เหล็กกล้าแปรรูปแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ เหล็กเส้นคอนกรีต และ เหล็กรูปพรรณ

เหล็กเส้นคอนกรีต

เหล็กเส้นกลม: เหล็กกล้าผ่านการรีดร้อน มีลักษณะเป็นเส้นผิวเรียบ มีขนาดและเส้นผ่านศูนย์กลางให้เลือกหลากหลาย นิยมใช้ในงานก่อสร้าง อย่าง งานก่อผนัง เหล็กปลอกตามคาน เสา ฯลฯ ส่วนใหญ่เหล็กประเภทนี้จะเป็นเหล็กเกรด SR24

เหล็กข้ออ้อย: เหล็กกล้าที่ถูกนำมาทำเป็นเส้นรอบนอกคล้ายเกลียวล้อมรอบ มีขนาดและเส้นผ่านศูนย์กลางให้เลือกหลากหลายเช่นกัน มักถูกนำไปใช้ในงานอุตสาหกรรมประเภทก่อสร้างเสริมคอนกรีตที่ต้องการความแข็งแรงสูงกว่าเหล็กเส้นกลม เช่น สร้างอาคาร เขื่อน สะพาน ฯลฯ เหล็กประเภทนี้มักเป็นเหล็กกล้าเกรด SD30 - SD50

เหล็กกล้าตีเกลียว: เส้นเหล็กประเภทนี้หน้าตาจะค่อนข้างโดดเด่น เหมือนมีเส้นเหล็กเล็กๆ หลายเส้นมารวมกันจนเป็นเส้นหนา (เส้นเหล็กเหล่านั้นคือเส้นเหล็กคาร์บอนสูงมากกว่า 2 เส้น) ส่วนใหญ่มักถูกหยิบไปใช้ในงานก่อสร้างอุตสาหกรรมเช่นกัน

เหล็กรูปพรรณ
เหล็กประเภทนี้จะขึ้นรูปมาสำเร็จพร้อมนำไปใช้งานต่อได้ทันที โดยการนำเหล็กแผ่นหรือเหล็กก้อนไปผ่านกระบวนการรีดร้อน เช่น ตัดเฉือน ขึ้นรูป ลากขึ้นรูป ฯลฯ ที่อุณหภูมิสูงถึงหลักพันองศาขึ้นไป

เหล็กแผ่นมีลวดลาย: เชื่อว่า หลายท่านน่าจะเคยเห็นเหล็กบนพื้นที่มีลวดลาย อย่าง เหล็กตีนไก่ ลายดอก ฯลฯ ผ่านตากันบ้าง เหล็กพวกนี้ก็ถือเป็นแผ่นเหล็กกล้าผ่านการปั๊ม นิยมนำไปใช้ติดบนทางเดินหรือพื้นรถบรรทุก เพื่อป้องกันการลื่นหรือน้ำขัง

เหล็กแผ่นแบน: เหล็กกล้าแผ่นแบนผิวหนาเรียบ มีขนาดและความหนาให้เลือกหลากหลาย หากใช้เหล็ก เหล็ก SKD11 คุณสมบัติ จะสามารถทนต่อแรงตึงสูง มักนำไปใช้เป็นลูกรีด ใบมีดตัดเหล็ก แม่พิมพ์ปั๊มขึ้นรูป ฯลฯ

ท่อเหล็ก: มีทั้งท่อเหล็กแป๊ปน้ำ อาบสังกะสีป้องกันสนิม ใช้สำหรับท่อลำเลียง งานเดินสายไฟ ขึ้นรูปต่างๆ ที่ต้องการความทนทาน อย่างกลางแจ้งหรือใกล้ทะเล ฯลฯ และท่อเหล็กดำ ใช้สำหรับ ท่อประปา ลำเลียง โครงสร้าง ทั่วไป

เหล็กรูปพรรณรีดร้อน: มีทั้งเหล็กโครงสร้างรูปตัว C H I, เหล็กฉาก สำหรับโครงสร้างอาคาร/ขนาดเล็ก โครงสร้างเบาะรถยนต์ ชั้นวางต่างๆ, เหล็กรางน้ำ หรือ เหล็กฉากพับ งานโครงสร้างและก่อสร้างต่างๆ

เหล็กรูปพรรณรีดเย็น: เหล็กรูปพรรณในรูปแบบต่างๆ หลังผ่านการรีดร้อนจนเป็นรูปร่างแล้วนำมารีดเย็น เพื่อเพิ่มความเรียบ แข็งแรงทนทาน แต่คุณสมบัติในส่วนของความเหนียวและยืดหยุ่นอาจลดลง

นอกจากเหล็กรูปพรรณ 5 แบบนี้ ยังมีเหล็กรูปพรรณชนิดอื่นที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอีกมากมาย เช่น เหล็กเพลาขาว หน้าตาคล้ายเหล็กเส้น ใช้ในงานอุตสาหกรรม ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

สรุป

จะเห็นได้ว่า จากประเภทเหล็กที่เราได้นำมาฝากในบทความนี้ แม้พวกเราอาจเรียกว่า เหล็กเหมือนกัน แต่เหล็กประเภทต่างๆ กลับไม่เหมือนกันซะทีเดียว แถมนอกจากชื่อเรียก ประเภท และคุณสมบัติต่างๆ ของเหล็กแล้ว อาจต้องเลือกเกรด และขนาดเพิ่มเติม เพื่อเลือกใช้เหล็กให้ตรงใจ ตอบโจทย์กับการใช้งานอีกด้วย หัวใจสำคัญคือการศึกษาเหล็กประเภทต่างๆ และพิจารณาให้ถี่ถ้วนทุกครั้งก่อนตัดสินใจเลือกใช้งาน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกเหล็กควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อให้สามารถเลือกเหล็กไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้